สุขภาพใจที่ดี มีชัยไปเกินครึ่ง [6729-1u]

Поділитися
Вставка
  • Опубліковано 15 жов 2024
  • ช่วงไต่ตามทาง : สุขภาพใจไม่ดี เพราะโรคซึมเศร้า
    ท่านผู้ฟังท่านนี้เป็นโรคซึมเศร้า มีกัลยาณมิตรที่ดีแนะนำให้ฝึกสติอยู่กับตัวเอง รู้ทันอารมณ์ ก็ตั้งสติ สังเกตอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เศร้า ไม่พอใจ โกรธ เหงา ขี้เกียจ เป็นต้น มีจดบันทึกไว้บ้าง ทำอยู่ประมาณ 6 - 12 เดือน ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน อารมณ์เหล่านั้นอ่อนแรงลง ความซึมเศร้าลดลงเรื่อย ๆ มีการพัฒนาอุปนิสัยใหม่ มีกิจกรรมใหม่ในทางที่ดีขึ้น ฟื้นฟูจากโรคซึมเศร้า สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข
    “เมื่อเราตริตรึกไปทางไหน จิตเราจะน้อมไปทางนั้น จิตเราน้อมไปทางไหน สิ่งนั้นจะมีพลัง หากเราไม่ตริตรึกไปทางไหน จิตเราก็จะไม่น้อมไปทางนั้น จิตเราไม่น้อมไปทางไหน สิ่งนั้นก็จะอ่อนกำลัง” ดังนั้น การที่เรามีสติ สังเกตเห็นอารมณ์ตัวเองได้ จะทำให้จิตที่จะคล้อยไปตามอารมณ์นั้นเบาบางลง จิตที่จะเพลินไปตามอารมณ์ซึมเศร้า ฟุ้งซ่าน โกรธ ไม่พอใจ ยินดี ลุ่มหลง นั้น จะอ่อนแรงลง เพราะ สติตั้งอยู่ตรงไหน ความเพลินจะอ่อนกำลังโดยอัตโนมัติทันที
    ช่วงปรับตัวแปรแก้สมการ : สุขภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง จริงหรือไม่
    “สุขภาพดี” ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ การเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย มีไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารที่ย่อยได้อย่างสม่ำเสมอ พอปานกลาง ไม่ร้อนเกิน ไม่เย็นเกิน พอควรแก่การทำความเพียร
    หากมีโรคมาก ก็จะมีเวทนามาก ชีวิตก็จะไม่ยืนยาว เวทนานั้นปรับตามอาพาธ อาพาธปรับตามธาตุไฟ (ความร้อน ความเย็น การเผาไหม้ ในร่างกาย) ถ้าธาตุไฟไม่สมดุล ไม่สม่ำเสมอ ร้อนเกินไปบ้าง เย็นเกินไปบ้าง ก็เป็นอาพาธ
    การกินอาหาร ร่างกายต้องใช้ความร้อนในการย่อย ความร้อนนี้เป็นอันเดียวกับความร้อนที่ทำให้แก่ การกินมากไปทำให้แก่เร็วเพราะเกิดการเผาไหม้ในร่างกายมาก แต่จะไม่กินอาหารเลยก็ไม่ได้ จึงต้องกินแต่พอดี พระพุทธเจ้าจึงสอนหลักเรื่อง “โภชเน มัตตัญญุตา” คือ กินพอประมาณ ให้มีธาตุไฟสม่ำเสมอ ให้มีเวทนาเบาบาง จะแก่ช้า ครองอายุได้ยืนนาน
    ผล 3 ประการของการมีสุขภาพกายที่ดี ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า :
    1. สุขภาพกายดี เป็นองค์ประกอบ 1 ใน 5 ขององค์แห่งผู้สมควรประกอบความเพียร (ปธานิยังคะ)
    คนที่จะทำความเพียรให้เกิดผลสำเร็จได้ มีเหตุ 5 ประการ คือ
    (1) มีศรัทธา - มั่นใจในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
    (2) มีอาพาธน้อย - มีธาตุสม่ำเสมอ
    (3) ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา - เปิดเผยความผิดตัวเอง แก้ไขปรับปรุงตัว รับฟังคำเตือนด้วยความเคารพหนักแน่น
    (4) เป็นผู้ปรารภความเพียร - ไม่ทอดทิ้งธุระ ละสิ่งที่เป็นอกุศล เพิ่มสิ่งที่เป็นกุศล
    (5) มีปัญญา - เห็นความเกิดขึ้น ดับไป สังเกตสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ
    2. การยึดถือร่างกายที่มีสุขภาพดี จะคลายความยึดถือได้ง่ายกว่าการยึดถือทางใจ
    มนุษย์ประกอบด้วยกายและใจ กายคือรูป ใจคือนาม สิ่งที่เป็นนามทั้งหลาย มีธรรมชาติเกิดขึ้น ดับไป ดับไป เกิดขึ้น ตลอดวันตลอดคืน การเห็นความเสื่อมสลายไม่ชัดเจน ความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดจึงทำได้ยาก ส่วนกาย จะดำรงอยู่กี่ปี ก็เปลี่ยนแปลงไป เสื่อมถอย แตกสลายไป ซึ่งปรากฏให้เห็นได้ง่ายกว่าใจ การคลายความยึดถือในกายจะทำได้ง่ายกว่า
    3. การเห็นกายในกาย - เป็นหนึ่งในสติปัฏฐาน 4
    การเห็นกายในกาย คือ พิจารณาให้เห็นกาย (ที่มีสุขภาพดี) นี้ โดยความเป็นของไม่สวยงาม เป็นของปฏิกูล เป็นอสุภะ หรือ พิจารณาลมเข้า-ออก หรือ พิจารณาอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน มีสติสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะ
    เราใช้ผลของการมีสุขภาพกายที่ดีเพื่อชนะกิเลส โดยพิจารณากายในกาย ตั้งสติปัฏฐาน 4
    โดยสรุป : หากเรามีสุขภาพกายที่ดี แล้วได้ผล 1 ใน 3 ส่วนข้างต้น ก็จะได้ผลอย่างอื่นตามมาด้วย อย่างไรก็ตาม แม้สุขภาพกายไม่ดี เช่น พระพุทธเจ้า สุขภาพไม่ดีเนื่องมาจากการทำทุกรกิริยา ก็ยังมีสุขภาพใจที่ดี สามารถบรรลุธรรมได้ หรือ คนป่วยแต่มีสุขภาพใจที่ดี ราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง มีกำลังใจสูงก็มี
    ดังนั้น คำว่า “สุขภาพดี” ควรเน้นมาทางด้านจิตใจ ทางกายมีส่วนอยู่ 30% ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นเรื่องของใจ ถ้าเรารักษาจิตใจได้อย่างดี มีชัยเกินครึ่งแน่นอน ส่วนกายจะเป็นอย่างไรก็ดูแลประคบประหงมไป ความเข้าใจนี้เป็นปัญญา เป็นความรู้ให้เกิดสิ่งที่เป็นความสุขกายสุขใจ ขอให้เกิดสุขภาพดีทางกาย สุขภาพดีทางใจต่อไป

КОМЕНТАРІ • 14