AP LAW 79 ความผิดฐานรับของโจร คืออะไร

Поділитися
Вставка
  • Опубліковано 27 чер 2024
  • AP LAW 79 ความผิดฐานรับของโจร
    ความผิดฐานรับของโจร คือความผิดที่ผู้รับทรัพย์นั้นได้รับทรัพย์สินจากการกระทำความผิด โดยได้รับจากผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ โดยปรากฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 โดยมีรายละเอียดดังนี้ ได้แก่
    การกระทำความผิดฐานรับของโจรจะต้องมีการช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำไว้ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดในฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ และผู้ที่จะกระทำความผิดฐานรับของโจรได้ ต้องมาเกี่ยวข้องกับทรัพย์ที่เป็นของโจรภายหลังที่ความผิด 9 ฐานสำเร็จไปแล้ว ทั้งนี้
    1.การซ่อนเร้น คือการปกปิกไม่ให้พบเห็นหรือพบเห็นได้ยากขึ้น เช่น ปกปิดซ่อนเร้นธนบัตรที่ผู้อื่นเก็บตกได้
    2.การจำหน่าย คือการทำให้ทรัพย์นั้นไปจากผู้กระทำโดยการส่งมอบต่อไป ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ เช่น การพาคนร้ายนำทรัพย์ไปจำนำ, ช่วยฆ่ากระบือที่ลักมาเพื่อขายเนื้อ, ช่วยไถ่ทรัพย์ที่คนร้ายลักมาโดยรู้เห็นเป็นใจ เพื่อช่วยจำหน่ายทรัพย์
    3.การช่วยพาเอาไปเสีย คือการทำให้ทรัพย์นั้นพ้นจากความยึดถือครอบครองเดิม เช่น รับทรัพย์ที่ลักมาแล้วขว้างทรัพย์ออกไป, ขึ้นคร่อมแล้วบิดกุญแจรถจักรยานยนต์ที่ลักมา
    4.การซื้อ คือการรับไว้ซึ่งของโจรโดยมีค่าตอบแทน
    5.การรับจำนำ คือการรับทรัพย์ที่เป็นของโจรไว้เพื่อประกันหนี้
    6.การรับไว้โดยประการใด คือการรับไว้ด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม เช่นรับฝาก รับให้ เป็นต้น
    ทั้งนี้การรับไว้ซึ่งทรัพย์ที่เป็นของโจร ผู้กระทำผิดต้องรู้ข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ภายใต้หลักตามมาตรา 59 วรรคสาม คือผู้กระทำต้องได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด หากผู้กระทำรับไว้โดย “ไม่รู้ว่าทรัพย์ดังกล่าวได้มาจากการกระทำความผิด” (ไม่รู้ว่าเป็นของโจรในขณะรับไว้) ถือว่าผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด ตามมาตรา 59 วรรคสาม หากมารู้ในภายหลัง แล้วยังขืนจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์ดังกล่าวต่อไปอีก การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร นอกจากนี้ ทรัพย์ที่จะเป็นของโจรได้จะต้องได้มาจากการกระทำความผิด ตามมาตรา 357 วรรค 1 ที่กล่าวไว้ข้างต้นเท่านั้น หากเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานอื่น ย่อมไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร
    ในส่วนของตัวผู้กระทำความผิดนั้น จะต้องเป็นผู้ที่รับทรัพย์ที่มาภายหลังการกระทำความผิด 9 ฐานตามมาตรา 357 วรรค 1 แล้ว โดยผู้รับของโจรจะต้องมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดทั้ง 9 ฐานเสียเอง หากผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดได้เอาทรัพย์ที่มาจากการกระทำความผิดไป ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
    นอกจากนี้ในความผิดฐานรับของโจร ยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น
    1.การเบียดบังหุ้นนั้น เนื่องจากหุ้นเป็นทรัพย์ที่ไม่ใช่วัตถุมีรูปร่าง หรือจับต้องได้ แต่เป็นสิ่งที่แสดงสิทธิหน้าที่หรือส่วนได้เสียของผู้ครอบครองหุ้น ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จะยักยอกได้ กับทั้งการแก้ไขทะเบียนผู้ถือหุ้นนั้นไม่กระทบถึงกรรมสิทธิ์ของผู้ถือหุ้น ผู้กระทำจึงไม่ผิดฐานยักยอก ทำให้ผู้รับทรัพย์นั้นไม่มีความผิดฐานรับของโจรด้วย (ฎ.8396/2552)
    2.การเอาทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของมาเป็นของตนเองไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ผู้ที่เอาทรัพย์นั้นมาอีกทอดย่อมไม่มีความผิดฐานรับของโจรด้วย (ฎ.2727/2537)
    3.รับเช็คของโจรโดยที่รู้ว่าเป็นเช็คที่ลักมา ความผิดสำเร็จทันทีที่รับ แม้ภายหลังจะนำเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้ก็ตาม (ฎ.2177/2520)
    4.รับของโจรจากผู้รับของโจรอีกทอดหนึ่ง ถือเป็นความผิดฐานรับของโจรเช่นกัน
    5.การปกปิดความจริงว่าทรัพย์อยู่ที่ใด ไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร
    6.นั่งในรถที่ผู้อื่นลักมาเพื่อไปเที่ยว มิใช่การช่วยเหลือผุ้กระทำความผิดในการพารถออกไป ถือไม่ได้ว่ารับของโจร
    7.ดูทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด และตั้งใจจะซื้อ แต่ยังไม่ได้ซื้อ ยังไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร เป็นแค่การตระเตรียมการเท่านั้น
    8.กรณีทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดนั้นได้เปลี่ยนสภาพเป็นทรัพย์อื่น เช่นนำทรัพย์ที่ลักมาไปขาย เงินที่ได้จากการขายทรัพย์นั้นมิใช่ทรัพย์สินที่ถูกลักไป ถือเป็นกรณีที่ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดกับทรัพย์ที่เป็นของโจรจะต้องเป็นอันเดียวกัน ผู้ที่รับเงินจึงไม่ใช่ผู้กระทำความผิดฐานรับของโจร
    9.ช่วยไถ่ทรัพย์เพื่อช่วยเหลือเจ้าของทรัพย์ที่โดยมิได้รูเห็นเป็นใจกับคนร้าย เป็นการกระทำโดยขาดเจตนา ไม่มีความผิดฐานรับของโจร
    10.ถ้าเป็นการเข้ามาเกี่ยวข้องในระหว่างที่ความผิด 9 ฐานยังไม่สำเร็จ เช่น อยู่ในขั้นลงมือกระทำความผิดไปแล้ว แต่ยังกระทำไปไม่ตลอด (พยายามกระทำความผิด ม.80) เช่นนี้ผู้ที่เข้ามาในระหว่างนี้ อาจถือได้ว่าเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดได้ (ฎ.4305/2562)
    โดยการรับของโจรนั้น จะมีโทษตามมาตรา 357 วรรค 1 คือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    ในส่วนของการรับของโจรตามวรรค 2 นั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไรหรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามมาตรา 335 (10) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
    ในส่วนของการรับของโจรตามวรรค 3 นั้น จะใช้กับทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูปหรือวัตถุในทางศาสนา ถ้าทรัพย์นั้นเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน หรือเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธรูป หรือวัตถุดังกล่าว หากเป็นการลักทรัพย์ดังกล่าวตามมาตรา 335 ทวิ, ชิงทรัพย์ดังกล่าวตามมาตรา 339 ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ดังกล่าวตามมาตรา 340 ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท
    เนื้อหาโดย
    กิตตินันท์ จารุกิจไพศาล
    Paralegal
    น.บ. (ธรรมศาสตร์)

КОМЕНТАРІ •