ปลาคาร์ปป่วย
Вставка
- Опубліковано 7 лют 2025
- ปลาสวยงาม เมื่อป่วยก็ไม่สวยงาม เพราะอาการมักปรากฏให้เห็นตามเนื้อตัวร่างกาย เช่น สีสันไม่สดใส มีแผลเปื่อย ครีบและหางแหว่ง เกล็ดพอง มีสิ่งแปลกปลอมเกาะตามตัว รวมถึงว่ายน้ำแบบผิดปกติ ดูไม่ปราดเปรียวกระฉับกระเฉง
ถ้าเห็นปลามีความผิดปกติเช่นนี้ จึงควรรีบรักษา เพราะอาจมีเชื้อแพร่กระจายในน้ำทำให้ปลาตัวอื่นในตู้หรือบ่อเดียวกันป่วยไปด้วย
โรคของปลาสวยงามแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม คือ
1.โรคที่เกิดจากการขาดสารอาหาร จะทำให้ตัวปลามีสีสันไม่สดใส ครีบเปื่อย รูปร่างผิดปกติ ภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ติดโรคอื่นๆ ได้ง่าย
2.โรคจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคเหงือก บวมน้ำ แผลเปื่อย ครีบและหางกร่อน วัณโรคปลา ฯลฯ
3.โรคจากเชื้อรา เช่น โรคพุพอง ซิฟิลิส มักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเมื่อปลาอ่อนแอ ทั้งยังเป็นโรคติดต่อได้
4.โรคที่เกิดจากพยาธิ เช่น เห็บปลา หนอนสมอ ปลิงใส จุดขาว ฯลฯ เหล่านี้มักทำให้ปลาตัวซีด ผอม
5.โรคที่เกิดจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น น้ำมีค่าความเป็นกรดด่างมากเกินไป อุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป มีสารพิษ จะทำให้ปลาอ่อนแอ
วิธีรักษาปลาป่วย
ถ้าจะต้องพาปลาไปหาหมอ ควรใส่ถุงและอัดออกซิเจนเข้าไป เหมือนตอนที่ซื้อปลากลับบ้าน แต่ในกรณีที่บ้านของอุ่นรักษาเนื่องจากมีปลาป่วยหลายตัว จึงเชิญสัตวแพทย์ให้มาตรวจรักษาที่บ้าน โดยคุณหมอจะจับปลาขึ้นมาไว้ในอ่างที่ผสมยาสลบ เพื่อให้ตรวจรักษาได้ง่าย หากเป็นการป่วยด้วยโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง ก็จะตัดแต่งผิว ให้ยาเคลือบแผล และฉีดยาฆ่าเชื้อ จากนั้น แนะนำให้แยกปลาตัวที่ป่วยไปเลี้ยงที่บ่อหรืออ่างอื่น หรือใช้ตาข่ายกั้นแบ่งพื้นที่การเลี้ยงอย่าให้ปะปนกับปลาปกติ เพราะจะต้องมีการติดตามอาการและฉีดยาฆ่าเชื้อรายวันจนกว่าจะครบกำหนด ถ้าปล่อยปลาปะปนกันจะทำให้ดูแลยาก
ส่วนปลาที่มีอาการป่วยมากกว่าการติดเชื้อที่ผิวหนัง อาจต้องมีการผ่าตัด ก็จะต้องวางแผนกันต่อไป
ปลาป่วยเพราะน้ำ
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปลาป่วยนั้นเกิดจาก “คุณภาพน้ำ” ที่ผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นได้เสมอ หากไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อปลาเป็นประจำ
ในน้ำมี แอมโมเนีย (NH3) ไนไตรต์ (NO2-) และไนเตรต (NO3-) เป็นรูปแบบของสารประกอบไนโตรเจน ที่มีความเกี่ยวพันกับการเลี้ยงสัตว์น้ำ
• แอมโมเนีย คือของเสียที่ปลาขับถ่ายออกมา รวมถึงเศษอาหารที่ปลากินเหลือ ซากพืช ซากสัตว์ ถ้าแอมโมเนียในน้ำมากเกินไปจะเป็นพิษ ปลาจะขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำ ผิวหนังระคายเคือง เหงือกมีปัญหา
• ไนไตรต์ เกิดจากการย่อยสลายของแอมโมเนียโดยแบคทีเรียชนิดหนึ่งซึ่งจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อในน้ำมีแอมโมเนีย ไนไตรต์มีพิษน้อยกว่าแอมโมเนียแต่ก็ยังมีพิษ ค่าปกติของไนไตรต์ในน้ำควรต่ำกว่า 0.3 mg./l. ถ้ามีมากเกินไป ปลาจะรู้สึกหายใจไม่ออก
• ไนเตรต เกิดจากการย่อยสลายไนไตรต์โดยแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นเองในระบบ ไนเตรตไม่มีพิษต่อปลาโดยตรง อีกทั้งมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืชใต้น้ำ ค่าไนเตรตปกติควรอยู่ระหว่าง 0-50 mg./l. ถ้ามีไนเตรตสะสมมากเกินไป ไนเตรตจะกลายเป็นกรดไนตริก มีผลต่อค่า pH ของน้ำ เมื่อค่าความเป็นกรดด่างของน้ำไม่นิ่ง ปลาจะอยู่ไม่เป็นสุข เกิดความเครียด ภูมิต้านทานลดลง
การมีปริมาณแอมโมเนีย ไนไตรต์ และไนเตรตในน้ำมากเกินไป เกิดจากการทำงานที่ไม่สมดุลของระบบการกรองน้ำ ทั้งประสิทธิภาพของบ่อกรองที่ควบคุมแอมโมเนียไม่ได้ และระบบการกรองชีวภาพ คือการทำงานของแบคทีเรียที่ทำได้ไม่เต็มที่ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเช่นนี้คือ จำนวนปลาที่มีมากเกินไป ทำให้ของเสียมีมาก หรือการให้อาหารปลามากเกินไปจนปลากินไม่หมด แบคทีเรียจึงย่อยสลายของเสียไม่ทัน นอกจากนี้ หากอุณหภูมิของน้ำไม่เหมาะสม เช่น เย็นเกินไปหรืออุ่นเกิน แบคทีเรียอยู่ไม่ได้ การย่อยสลายแอมโมเนีย ไนไตรต์ และไนเตรตก็จะช้าลงไปอีก
.
วิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุดคือ เปลี่ยนน้ำบ่อปลาอยู่เสมอ ร่วมด้วยการเติมเกลือ เพราะจะช่วยให้ปลาดูดซึมไนไตรต์ได้ลดลง การปลูกพืชน้ำจะช่วยลดปริมาณไนเตรตเพราะถูกพืชดึงไปใช้งาน และการให้อาหารในปริมาณที่พอดีกับจำนวนปลา จะช่วยให้ไม่เกิดเศษอาหารตกค้างจนเน่าเสีย เมื่อมีน้ำที่สะอาด ปลาก็ร่าเริง
ข้อมูลอ้างอิง:
www.arohouse.com
www.pcf-farm.com
www.sukhumvitphun-vet.com
www.rakbankerd.com
www.whitecranev88.com
AQuaDSign