“ชวน”เตือนสติรบ. ยึดคำถวายสัตย์ บริหารบ้านเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ประเทศและประชาชน

Поділитися
Вставка
  • Опубліковано 12 вер 2024
  • 13 กันยายน 2567 เวลา 13:50 น. ที่อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายการแถลงนโยบายรัฐบาลในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ตนได้อภิปรายนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน เรื่องความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ขณะนั้นตนพูดในฐานะฝ่ายค้าน วันนี้พูดในฐานะรัฐบาล แต่ไม่ว่าตนจะอยู่ในพรรคการเมืองใดก็ตาม ความจริงก็คือความจริง ไม่อาจเปลี่ยนไปตามฐานะ ดังนั้นข้อมูลที่จะพูดถึงกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงขอย้ำว่าในครั้งนั้นตนต้องการให้รัฐบาลบรรจุปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ติดขัดที่ขณะนั้นนโยบาย 14 หน้าของรัฐบาลไม่มีเรื่องนี้ไว้เลย
    แต่ขณะนี้รัฐบาลได้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในคำแถลงนโยบาย หน้า 12 แม้จะเป็นเพียงหนึ่งบรรทัดก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าเรายอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เหตุที่หยิบยกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะถือหลักว่า ชีวิตมีค่ามากกว่าเงิน เราจะผิดพลาดนโยบายทางเศรษฐกิจขาดทุนไปกี่หมื่นกี่แสนล้าน ไม่เท่ากับชีวิตของคน 7,500 กว่าคนที่เสียไปจากความผิดพลาด นโยบายด้านความมั่นคง จึงได้ย้ำเรื่องนี้เป็นพิเศษ ซึ่งเมื่อยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายส่วนหนึ่งแล้วเราจะได้ปฏิบัติต่อไปเพื่อให้สำเร็จ ตนขอย้ำว่าความสำเร็จที่เราจะแก้ปัญหาได้คือต้องยอมรับความจริงว่าเหตุทั้งหมดเกิดจากอะไร เช่นเหตุการณ์เมื่อ 8 เมษายน 2544 โชคดีว่าวันนี้มี วุฒิสมาชิกท่านหนึ่งเป็นอดีตแม่ทัพภาค4 อยู่ในที่นี้ด้วย ตนเชื่อว่าท่านจะเป็นประโยชน์ในการให้ข้อมูล เพื่อจะแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ได้ “ภาคใต้เป็นแหล่งขวานทอง เป็นแหล่งที่ทำรายได้ เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่จะสนับสนุนประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองได้ ดังนั้นเราต้องหาทางทำให้เกิดความความสุขให้ได้”
    เรื่องที่สอง นายกฯ ได้แถลงนโยบายว่าต้องการเห็นความสามัคคีและปรองดอง ขอเรียนว่าไม่มีใครไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ แต่จะเกิดความสามัคคีปรองดองได้ จะต้องปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอภาค อย่าเลือกปฏิบัติ จึงขอย้ำสั้นๆ ซึ่งได้ขออนุญาตไว้ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วว่ากรุณาชดเชยกรณีที่เราเลือกปฏิบัติก่อให้เกิดความเสียโอกาส ความจริงตนได้ขอไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งท่านก็เห็นด้วย แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก จึงขอทิ้งในรัฐบาลชุดนี้ให้ทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่าในช่วงที่ผ่านมามีอะไรที่ทำให้เกิดความขัดข้องหมองใจ และทำให้เกิดความขัดแย้งไม่ปรองดองอันเกิดจากมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับการปฏิบัติโดยเสมอภาค
    แต่นโยบายเหล่านี้จะเกิดผลสำเร็จได้อย่างไร นายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อได้ถวายสัตย์ว่า “นับเป็นเกียรติยศและความภูมิใจสูงสุดแก่ชีวิตของดิฉันและคณะรัฐมนตรี พร้อมนำพระราชดำรัสมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน” พระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานนั้นคือ ขอให้พรด้วยความยินดีให้คณะรัฐมนตรีมีกำลังใจความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้ถวายสัตย์ไปแล้ว เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน ในหลวงทรงประทานพรอันประเสริฐให้แก่คณะรัฐมนตรี ซึ่งข้อนี้ต้องมาดูว่าคำถวายสัตย์ว่าไว้อย่างไร
    นายชวน กล่าวย้ำว่า สิ่งที่ต้องปฏิบัติในการบริหารราชการคือ 1.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ความซื่อสัตย์สุจริตนั้น ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ความหมายมีไปถึงเมื่อคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารประเทศ เรามีข้าราชการที่รองรับอยู่ในทุกหน่วยงาน บุคคลเหล่านั้นไม่ได้มาแบบนักการเมือง แต่เป็นข้าราชการที่ไต่เต้า จากระดับเล็ก ขึ้นมาลำดับสูง ตามลำดับ เขาเก่งพอที่จะสอบเป็นข้าราชการได้ เราก็ต้องให้เกียรติข้าราชการ ไม่เอาตำแหน่งมาเป็นราคา ในฐานะนักการเมืองฝ่ายบริหารจะต้องปฏิบัติโดยหลักธรรมาภิบาล คือหลักคุณธรรมจริยธรรมที่ให้โอกาสคนเหล่านั้นขึ้นมาทำตามความสามารถ ไม่ใช่ด้วยราคา มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถรักษาความซื่อสัตย์สุจริตได้ เราก็จะได้คนที่ไม่ดีเข้ามาทำงานกับเรา
    ข้อที่สอง การปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ในข้อนี้ดูจะเหมือนสั้นๆ แต่แท้จริงแล้วหากเราทำได้ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์กับระบบการปกครองในรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
    “จึงขอให้คณะรัฐมนตรีได้แปลความนี้ให้ชัดเจนว่าการบริหารนั้นไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองของท่าน ไม่ใช่ประโยชน์เพื่อเขตเลือกตั้งของท่าน แต่ต้องคิดถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน องค์กรใดที่เป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศจะต้องไม่รับใช้พรรคการเมือง ต้องไม่รับใช้นักการเมือง ต้องรับใช้ประโยชน์ของประเทศชาติ ถ้าเป็นเช่นนี้ความเชื่อมั่นต่อระบบการปกครองนี้ก็จะมั่นคง และทำให้เห็นว่าระบบการปกครองนี้มีประสิทธิภาพ ใครที่คิดว่าระบบนี้อ่อนประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิผลในการปฏิบัติหน้าที่ เกิดความรู้สึกตลอดมาว่าทำไมระบบถึงเป็นเช่นนี้ก็มาโทษระบบการปกครอง แต่ความจริงแล้วอยู่ที่ภาคปฏิบัติ” นายชวนกล่าว
    ประการสุดท้าย คือการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลได้เขียนเรื่องของหลักนิติธรรมไว้หลายตอนซึ่งตนเห็นว่ารัฐบาลที่แล้วก็เขียนเรื่องนี้ แต่หลักนิติธรรมเป็นหัวใจการปกครอง สำหรับปัญหาภาคใต้หากเรายึดหลักนิติธรรม คือฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมาย ฝ่ายบริหารดำเนินการบริหารตามกฎหมาย ฝ่ายตุลาการตัดสินปัญหาตามกฎหมาย ปัญหาก็จะไม่เกิด แต่บังเอิญช่วงหนึ่งเราไปใช้ฝ่ายบริหารเป็นศาลหรือตัดสินว่าควรตายเดือนละกี่คน จึงเป็นที่มาของทุกวันนี้ ขอย้ำจุดนี้ว่าเมื่อเรายึดมั่นในหลักนิติธรรมแล้ว ไม่เคยมีสถานการณ์ใดที่เป็นพิษเป็นภัยต่อประเทศชาติบ้านเมือง
    “คำถามมีว่าการปฏิญาณตนตามที่กล่าวมานี้ รัฐบาลก่อนๆไม่ได้ปฏิญาณหรือ ทุกรัฐบาลก็ปฏิญาณครับ ข้อความไม่เหมือนกันหรือ รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 2550 2560 ข้อความปฏิญาณนั้นเหมือนกัน และรัฐบาลทุกชุดก็ต้องปฏิญาณ แล้วทำไมปฏิญาณแล้ว ถึงมีปัญหา มีอันเป็นไป ถูกดำเนินคดี ต้องหนีคดี ถูกจำคุก เพราะอะไร คำตอบก็คือแม้ปฏิญาณไปแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติ สุดท้ายจึงอยู่ที่ภาคปฏิบัติ” นายชวนกล่าว

КОМЕНТАРІ •